วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

แผนที่ชีวิต


  1. ชีวิตคืออะไร
เมื่อแยกส่วนย่อยๆของชีวิตออกแล้ว ประกอบไปด้วย 5 ส่วน เรียกว่า ขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อแยกต่อไปจะพบว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสมมติบัญญัติ 
เมื่อโกรธ ถามตัวเองว่าโกรธอะไร โกรธขน โกรธหนัง อย่างนั้นหรือ 
ชีวิตรับรู้โลกได้ 6 ทาง เรียกว่า ทวาร6 หรือ อายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเกิดผัสสะกับอายตนะเหล่านี้ จะเกิดสุขทุกข์ เรียกว่าเวทนา เกิดความพอใจไม่พอใจ อยากให้เกิดอีก เรียกว่า ตัณหา ตัณหาจึงเป็นตัวสั่งให้ชีวิตดำเนินไปด้วยความไม่รู้ เราต้องแทนที่ตัณหาด้วยฉันทะ และหยุดฉันทะด้วยการทำให้สำเร็จ

2. ชีวิต เป็นอย่างไร
เป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่มีตัวตน
สันตติ บัง อนิจจลักษณะ ความสืบเนื่องบังความไม่เที่ยง ร่างกายเปลี่ยนแปลงเสื่อมสลายตลอดเวลา แต่ มองไม่เห็น
อิริยาบท บัง ทุกขลักษณะ อยู่ท่าเดิมนาน ๆ ก็เมื่อย ปวด เปลี่ยนท่าก็คลาย อิริยาบทจึงบังทุกข์
ฆนะ บัง อนัตตา ความเป็นแท่ง ช้ิน อัน สัญญาต่างๆ เห็นเสื้อไม่เห็นผ้า เห็นผ้าไม่เห็นด้าย ทุกสิ่งเกิดจากส่วนประกอบย่อยๆลงไปเรื่อยๆ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง

  1. ชีวิตเป็นไปอย่างไร 
ไตรลักษณ์เป็นเพียงอาการ ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย 
ไตรลักษณ์ บอกว่าเป็นอย่างไร ส่วนทำไมต้องเป็นอย่างนั้นให้ดูกฎ ปฏิจจสมุปบาท
"มองตามเหตุปัจจัย" และ "เป็นไปตามเหตุปัจจัย" ไม่นำความอยากให้มี ให้เป็น เป็นตัวตั้ง แต่ใช้หลักของเหตุปัจจัยเป็นตัวตั้ง จิตใจจึงปลอดโปร่ง มุ่งทำเหตุปัจจัยให้เหมาะให้ควร

  1. ชีวิต ควรให้เป็นอย่างไร
หลักในการสร้างชีวิตที่ดี และมีความสุขนี้ไม่มีอะไรมาก ก็คือ "การเข้าถึงธรรม" เจริญภาวนา เมื่อมีความสุขภายในแล้ว ความสุขภายนอกก็ไม่จำเป็น

  1. ชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร
ศีล   ศีล5 อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างไร้ปัญหา
ศีล8 ขัดเกลาตนเอง สอนตนเองว่าไม่มีกามคุณก็สุขได้
สมาธิ   มาพร้อมสติ คือเชือกที่ผูกลิงหรือจิต ไว้กับหลักหรืออารมณ์ในอารมณ์หนึ่ง
ปัญญา เมื่อเกิดสมาธิแล้วนำมาสร้างปัญญารู้แจ้ง

สติดึงเอาจิตมากำกับไว้กับสิ่งที่ต้องการ หรือสิ่งที่เราควรจะเกี่ยวข้องทำให้สิ่งนั้นอยู่ในการรับรู้ของจิต ไม่หลุดลอย ไม่หล่นหาย ไม่พลัดกันไปเสีย นี้คือหน้าที่ของสติ
สติ ต่างจากสมาธิอย่างหร
สติ คือ การที่ทำให้จิต ดึง จับ ตรึงกับอารมณ์ อารมณ์หนึ่ง ไม่ให้พลัดพราก จากนั้น การที่จิตแนบแน่นกับอารมณ์หนึ่ง เรียกว่าสมาธิ สติเป็นตัวเร่ิมตัน เป็นตัวดึงให้กลับมา ทำงานหนักในตอนแรก เมื่อมีสมาธิแน่วแน่ขึ้น สมาธิจะเป็นตัวเด่น สติคอยอยู่ห่างๆ ทำงานไม่หนักเหมือนตอนแรก เมื่อประกอบไปด้วยสมาธิมากแล้ว จิตก็พร้อมที่จะทำงานด้วยปัญญา เพื่อความรู้แจ้ง
ไม่หยุดดื่มด่ำเพียงความสุขทางจิตเพียงเท่านั้น เพราะเป้าหมายสำคัญ คือปัญญาที่จะตัดกิเลศโดยสิ้นเชิง

วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เปิดห้องเรียน วิชาความสุข


ส่ิงที่มนุษย์ต้องการมากที่สุด คือ ความสุข แต่สิ่งที่มนุษย์เรียนน้อยที่สุดคือวิชาความสุข ฉะนั้น แม้โลกเจริญด้วยวิทยาการสุดๆ แต่ความสุขของมนุษย์โดยรวมกลับลดลง มีคนเป็นโรคหดหู่และฆ่าตัวตายมากขึ้น รวมทั้งในหมู่เยาวชน

สร้างกิจวัตรทีละอย่าง เช่น ออกกำลังสัปดาห์ละ 3  ครั้ง ทำสมาธิ 15 นาทีทุกเช้า ดูภาพยนตร์เดือนละ 2 เรื่อง อ่านหนังสือวันละ 1 ชั่วโมง ทำกิจวัตรให้เป็นนิสัยก่อนที่จะสร้างกิจวัตรใหม่ ประมาณ 30 วัน

"สิ่งที่เราทำซ้ำๆ บ่งบอกถึงตัวเรา ความเป็นเลิศจึงไม่ได้เกิดจากการกระทำ แต่เกิดจากนิสัยต่างหาก" อริสโตเติล

กิจกรรมก่อนเข้านอน "จงเขียนสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขอย่างน้อย 5 อย่างในแต่ละวัน"  ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่

ความสุขในอนาคต
           
มาก หนูวิ่งแข่ง คนมีความสุข

น้อย คนหมดอาลัยตายอยาก เจ้าสำราญ

น้อย มาก ความสุขในปัจจุบัน

"ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ตีนเขา หรือยอดเขา เราถูกสร้างมาเพื่อให้ปีนป่าย ไม่ใช่ เพื่อให้ทำตัวสบายๆ" จอห์น การ์ดเนอร์

การทดลองสุนัข 3 กลุ่ม ไฟดูด ปิดเองได้
ไฟดูดแต่ทำอะไรไม่ได้
ไม่มีอะไร
เมื่อมีรั้วไฟฟ้า กลุ่ม 2  จะไม่พยายามแก้ปัญหา ไม่กระโดดข้าม มัวแต่ครางหงิงๆ

"ชีวิตนั้นสั้นเกินกว่าที่จะเร่งรีบได้" ทอโร
"คนคนหนึ่งไม่สามารถเลือกทางเดินให้กับชีวิตได้อย่างชาญฉลาด ถ้าเขาไม่กล้าฟังสิ่งที่ใจตัวเองเรียกร้องในแต่ละชั่วขณะของชีวิต" อับราฮัม มาสโลว์
"ทันทีที่คนคนหนึ่งได้ให้คำมั่นสัญญากับตัวเองอย่างแน่วแน่แล้ว เมื่อนั้นโชคชะตาจะเคลื่อนไปตามคำสัญญานั้น" วิลเลียม เอช เมอร์เลย์
"เรื่องที่เล็กน้อยที่สุด แต่มีความหมายนั้น มีค่าต่อชีวิตเรายิ่งกว่า เรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแต่ไร้ความหมาย" คาร์ล จุง
วิธีหนึ่งที่สามารถเพ่ิมความสุขได้ คือ ลด "สิ่งที่ต้องทำ" และเพ่ิม "สิ่งที่อยากทำ"
"อย่าถามตัวเองว่าโลกต้องการอะไร แต่ให้ถามตัวเองว่า อะไรที่ทำให้คุณมีชีวิตชีวา แล้วจงมุ่งทำสิ่งนั้น เพราะสิ่งที่โลกต้องการ ก็คือ ผู้คนที่มีชีวิตชีวานั่นเอง" ฮาโรลด์ วิตแมน

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ธรรมะจาก หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ



ความโกรธไม่ใช่จิตใจ ความทุกข์ไม่ใช่จิตใจ แต่มันเป็นเรื่องของอารมณ์ อย่าทำตามมัน ถ้าเวลาใดที่มีความโกรธก็ให้เรารู้ว่านี่ไม่ใช่จิต มันเป็นอาคันตุกะที่จรมาย้อมจิตใจของเรา ให้รู้จักแยกซะ

เราใช้ใจหรือว่าใจใช้เรา เราใช้ตาใช้หู หรือว่าตาหูใช้เรา เราใช้ความคิดหรือความคิดใช้เรา ถ้าตราบใดเรายังไม่รู้ เราก็ตกเป็นทาส อะไรเข้ามาก็เอาทั้งหมด เขาสั่งให้เรากินอะไรเราก็กินไป สั่งให้เราคิดอะไรก็คิดไป บางทีเขาบอกให้เราสุข บอกให้เราทุกข์ ความสุขความทุกข์เป็นนายของเรา เราก็เลยไม่อิสระ
การเจริญสติมันทำให้เกิดการพบทางขึ้นมาเห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริง สิ่งใดที่เกิดขึ้นกับกายกับใจรู้หมด รู้ครบ รู้ถ้วน ไม่เอะใจ เราได้ความฉลาดเพราะกายใจสอนเรา

การปลูกข้าวต้องรอนานครึ่งปีจึงจะได้รับผล 
การเจริญสติ ปลูกสติ ไม่ต้องรอแม้แต่เสี้ยววินาที รู้ได้ทันที เป็นปัจจัตตัง รู้เอาเอง เห็นเอาเอง ไม่ต้องไปถามใคร ตอบเอาเองได้
การเจริญสตินี่แหละคือการสร้างบารมี เป็นที่เกิดขึ้นของความรู้ทั้งหลาย ความรู้สึกตัว เปรียบเสมือนรอยเท้าของช้าง ถ้าเอารอยเท้าของสัตว์อื่นก็มาลงที่รอยเท้าของช้างได้ ธรรมที่เป็นกุศลธรรมทั้งหลายเอามารวมลงที่ความรู้สึกตัว

กายมันเป็นดุ้น เป็นก้อน มันเคลื่อนไหว มันเป็นรูป เป็น "รูปธรรม" ส่วนตัวรู้สึกที่เคลื่อนไหวไปมานี้เป็น "นามธรรม" อ้อ มันย่อให้แล้ว มันมีของสองอย่าง ถ้าจะว่าไปแล้ว กายกับใจ นี่แหละเป็นของสองอย่าง ดูดีๆ ไปก็เห็นอย่างนั้น มันเป็นดุ้นเป็นก้อนที่เคลื่อนไหวไปมาอยู่ นี่มันเป็นก้อนก้อนหนึ่ง ตัวที่สั่งให้เคลื่อนไหวเป็นอันหนึ่งเป็นนาม ดูเข้าไปเห็นเป็นของสองอย่าง ตัวดู ตัวเห็น ตัวรู้ มันเข้าไปเห็นซะ เห็นจริงๆด้วย เห็นของจริง จริงๆก็พบทางมั่นใจ
อันรูปที่เป็นดุ้นเป็นก้อน ตั้งแต่เท้าจรดหัว ตั้งแต่หัวจรดเท้า เป็นดุ้นเป็นอันหนึ่ง มันไม่รู้อะไรหรอก ทำดีไม่เป็น ทำชั่วไม่เป็น ทำผิดไม่เป็น ทำถูกไม่เป็น เขาสั่งให้เคลื่อนให้ไหว เขาสั่งให้ลุกให้เดิน เขาสั่งให้นั่งให้นอน ก็ทำไปตามคำสั่งเขา แต่ก่อนเราก็นึกว่าเป็นอันเดียวกัน ที่แท้ไม่ใช่ ดูเข้าไปดีๆ มันย่อยออก มันแยกให้ดู มันคนละอันกัน
ถ้าเห็นมันก็พบทางไปเรื่อยๆ คล่องตัวเรื่อยๆไป เป็นอย่างนั้นนะ ให้เห็นเป็นของสองอย่าง เป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม ทำดีทำชั่วก็เพราะรูปเพราะนามอันนี้ แต่ว่ารูปนี้ทำดีไม่เป็น ทำชั่วไม่เป็น นามมีอำนาจสั่ง รูปเป็นทาสของนาม ใจเป็นนามสั่งให้ทำอะไรก็ทำไปเลย สั่งให้ฆ่าตัวตายก็เอา เอาปืนมายิงตัวเองก็ได้ สั่งให้กินเหล้าก็กิน ทั้งๆที่มันไม่มีรสชาติอะไร กินเหล้าก็กิน สั่งให้สูบบุหรี่ สั่งให้ผูกคอตาย รูปนี้มันไม่รู้อะไรจริงๆ นามนี่มีอำนาจ เขาสั่งให้ทำอะไรก็ทำ พอดูเข้าไปจริงๆก็ โอ ตื่นตกใจ 
พอเห็นสภาพอย่างนี้เข้ามา อันเอะใจเห็นว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" ดังที่ท่านสอนไว้

ความรู้สึกตัวนั้นเป็นมรดกของชีวิตเรา นี้คือหลักของภาวนา เราทำอะไรไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ให้ฝึก เช่น สมมติว่าเรานั่งอยู่บนรถเมล์ กำลังนั่งไปทำงาน เราอาจจะคิดไปโน่นคิดไปนี่ก็กลับมาเสีย กลับมากระดิกนิ้วมือให้รู้อยู่ มันคิดไปทีไรก็กลับมา มารู้ตรงนี้ กระดิกนิ้วมือเล่น จะคลึงนิ้วมือเล่นให้รู้อยู่ มารู้ที่มือเรา มันคิดไปอีกก็กลับมาอีก
ปฎิ ก็คือกลับมา กลับมาหาความรู้สึกตัว ถึงเราจะเดิน จงกรมไม่เป็น อาจจะไม่บริกรรมภาวนา พุทโธ ยุบหนอพองหนอ อะไรก็ได้ ก็กลับมา คิดไปก็กลับมา
ปฏิ ก็คือกลับมา กลับมา มาอยู่เป็นปกติ เมื่อแรกเราต้องหัด ต่อไปไม่ต้องหัด มันเป็นของมันเอง มันจะกลับมาเอง อย่าคว้าหาเอง มันจะไม่ไป มันจะเป็นปกติของมันอย่างนั้นเอง
มันหัดได้ มันสอนได้ จิตใจของเราประเสริฐที่สุด ท่านทั้งหลายจะสัมผัสดูก็ได้

เรามาเรียนหลักสูตรของมนุษย์ด้วยการใช้กายและใจเป็นตำรา กล่าวคือ พยายามให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัวอยู่กับการใช้กายและใจ เข้าไปศึกษาดูให้รู้ให้เห็น โดยอาศัยวิธีการเจริญสติตามรูปแบบของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ คือการยกมือสร้างจังหวะเคลื่อนไหวไปมาหรือการเดินจงกรม ทั้งนี้ให้ "เจตนาเคลื่อนไหว" เพื่อเห็นกายหยาบๆไปก่อน แล้วจึงจะเห็นใจ หรือเห็นความคิดปรุงแต่งได้
การยกมือสร้างจังหวะหรือการเดินจงกรมก็เพื่อให้มีสติรู้ชัดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ถ้าเห็นการเคลื่อนไหวชัดก็เห็นใจชัด เราไม่ต้องไปหาดูใจ แต่อาศัยการดูผ่านการเคลื่อนไหวนี้่ หาโอกาสที่จะดูกายอยู่เสมอๆ พยายามเจตนาดู เช่น ในขณะฝึกปฎิบัติด้วยการยกมือสร้างจังหวะหรือเดินจงกรม เป็นต้น วันหนึ่งอาจจะรู้หลายรู้
ขณะที่มีความรู้สึกอยู่กับการเคลื่อนไหวของกาย บางขณะอาจมีหลายเรื่องที่ทำให้เราหลง เช่น ความคิดที่ลักคิด ซึ่งมักเกิดขึ้นในขณะที่เราตั้งใจทำความเพียรด้วยการเจริญสติ เมื่อเกิดขึ้นให้ถือว่าเป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์สอนเรา ขอให้เรากลับมาตั้งต้นดูกายเคลื่อนไหวเสียใหม่ เพราะความหลงจะสอนเราไม่ให้หลง

รูปแบบที่เราทำก็เป็นสูตรที่สำเร็จจริงๆ พลิกมือขึ้น ยกมือขึ้นรู้จริงๆ ยกมือขึ้นก็รู้ วางมือลงก็รู้ ก้มลงก็รู้ ไม่ต้องไปถามใคร เป็นปัจจัตตังทันที เราเห็นเองรู้เอง แล้วก็ไม่ต้องไปรอเสี้ยววินาทีไม่ต้องรอ พลิกมือขึ้นก็รู้ ยกมือขึ้นก็รู้ รู้ปั๊บทันทีนี้มันของจริง ของจริงมันต้องพิสูจน์ได้ ไม่ต้องไปวาดมโนภาพไม่ต้องไปคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องไปคิด ลองสัมผัสเอาจริงๆ รู้สึกตัวๆ
ถ้าเรายกมือสร้างจังหวะ 14 จังหวะ ถ้าทำพอดีๆ 14 จังหวะ จังหวะหนึ่งก็วินาทีหนึ่ง 14 วินาทีก็ได้ 14 รู้ 14 รู้ก็ได้ 14 วินาที รูปแบบของการสร้างจัวหวะ ชั่วโมงหนึ่งก็ 3600 วินาที ถ้าเรารู้ทุกวินาที เราก็ได้ความรู้สึกตัว 3600 รู้ มันเป็นกอบเป็นกำ ถ้ารู้ก็ไม่หลง ถ้าสัมผัสความรู้สึกตัว
บางทีมันทำไปนานๆ อาจล้า เราต้องรู้จักเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ ปรับปรุงตัวเองบ้าง อยู่ท่านี้นานเกินไป ครึ่งรู้ครึ่งหลง เราต้องปรับแผนใหม่ ตั้งต้นใหม่ให้มัน ให้ความรู้สึกตัวมันเด่นๆ
เหมือนกับนักถ่ายภาพอยู่ในฉากใดฉากหนึ่ง ถ้ามีมุมมองไม่สวยไม่เด่นแล้วก็หาจุดที่มันเด่นๆหาเอา ถ้านั่งไปๆมันง่วงลุกขึ้นเดินจงกรมให้ความรู้มันเด่น อย่าให้ความง่วงความหลงมันเด่น ก็ปรับไปเรื่อยๆ ทำไปทำมาความรู้สึกตัวมันเด่น มันเป็นใหญ่ มันมีอำนาจ ง่ายที่จะรู้ ถ้าเราทำไม่เป็นก็ง่ายที่จะหลง แต่ถ้าความหลงมันยิ่งใหญ่แล้วก็เป็นภาระ
เราจึงพยายาม หัดใหม่ๆนี้พยายามทำให้มันแม่นยำให้มันชัดเจน การยกมือสร้างจังหวะอย่าทำสักว่าทำ ใส่ความรู้สึกตัวเข้าไป ถ้าไม่รู้สึกตัวก็อย่าไปพลิกมือ ทำช้าๆไว้ ใส่ใจลงไป
เอาให้มันมั่นใจ มันรู้จริงๆ อย่าสักแต่ว่าทำเฉยๆ มันจะได้นิสัย ได้ปัจจัย ง่ายที่จะรู้

สมัยหนึ่ง หลวงพ่อกลับจากสิงคโปร์มาแวะที่หาดใหญ่ก็มีคนนำฝรั่งคนหนึ่งไปหา ฝรั่งคนนั้นก็บอกกับหลวงพ่อเลยว่า อย่าสอนผมนะ หลวงพ่ออย่าสอนผมนะ หลวงพ่อสั่งให้ผมทำดีกว่า ผมรู้มามากแล้ว อย่าสอนผม ให้ผมทำดีกว่า ดูซิฝรั่งเขาพูด
หลวงพ่อก็รู้สึกว่า โอ ดีเหมือนกัน ก็บอกเขา ให้เขาเริ่มต้นแบบนี้แหละ
กรรม กรรมคือการกระทำ ให้รู้สึก พลิกมือขึ้นรู้ไหม รู้ ยกมือขึ้นรู้ไหม รู้ รู้นะ รู้ก็ให้เขาทำอยู่นั่นราว 30 นาที ต่อจากนั้นก็พาเขาเดิน เดินก้าวไปให้รู้นะ เขาก้าวไปที่ใด หลวงพ่อก็เอามือแตะแขนเขา รู้อย่างนี้นะ รู้อย่างนี้นะ ก้าวไปก็ให้รู้อย่างนี้นะ รู้ รู้ รู้สึก ให้เดินดูสัก 30 นาที ก็เรียกเขามานั่งให้เขายกมือสร้างจังหวะอีก เขาได้สัมผัสกับความรู้สึกตัว สัมผัสกับสติ อยู่กับกาย
ก็ถามเขาว่า เมื่อตะกี้นี้คุณมีสติอยู่กับกาย จิตใจของคุณคิดไปทางอื่นไหม ไม่คิด อยู่ตรงนี้ รู้ตรงนี้ รู้ตรงนี้ ถ้ารู้อย่างนี้คุณเคยรู้อยู่อย่างนี้นานๆไหม หนึ่งวันเคยไหม ไม่เคย ชั่วโมงหนึ่งเคยรู้ไหม ไม่รู้ ก็เพ่ิงมารู้เดี๋ยวนี้
ทำไมเราจึงทำเป็นรูปแบบ เพราะเราฝึกให้มันเป็นปัจจุบัน ชีวิตของเราถ้าเราไม่ให้เป็นปัจจุบัน มันก็จะคิดไปหน้าคิดไปหลัง โดยเฉพาะความคิดมันอยู่นิ่งไม่เป็น ถ้าเราไม่มีเครื่องให้จับให้เกาะ
ทุกวันนี้คนเราจะเจริญในความคิด อะไรก็เอามาคิดทั้งหมด สิ่งที่ทำก็เอามาคิด เช่น เลิกจากงานมาถึงบ้าน ทำงานยังไม่เสร็จ อยู่ที่บ้านก็คิดเรื่องทำงานไม่เสร็จ นั่นไม่มีประโยชน์อะไร
ความคิดนั้นมีอยู่สองอย่าง คือ หนึ่งความลักคิด อีกอันหนึ่งคือตั้งใจคิด ความลักคิดแม้เราไม่อยากคิดมันก็คิด ถ้าเราไม่มีปัจจุบันเป็นที่อยู่ มันก็คิดไปเรื่อย จากเรื่องนี้เป็นเรื่องนั้น ตะพึดตะพือไป ถ้าเรามีความรู้สึกตัวเวลาใด มันก็กลับมา มารู้ปัจจุบัน มาอยู่ปัจจุบัน
วิธีสร้างความรู้สึกตัวจึงอาศัยรูปแบบ ต้องอาศัยการฝึกหัด ถ้าผู้ที่ฝึกหัดมาแล้วก็ง่ายที่จะมีความรู้สึกตัว

วิธีที่จะทำให้สติมันเด่นมันชัดขึ้นมา มันไม่มีวิธีอื่นใดที่จะให้ชัดเท่ากับวิธีเคลื่อนไหวกายหรือวิธีสร้างจังหวะนี้
วิธีสร้างจังหวะนี้เป็นมุมมองที่ชัดเจนที่สุดกว่าทุกๆวิธี จะขอพูดว่า ทุกๆวิธีนั้นใครจะว่าอะไรก็ว่ากันไป สำหรับหลวงพ่อเห็นว่าวิธีสร้างจังหวะนี้เป็นวิธีที่ทำให้ความรู้สึกชัดกว่าทุกๆรูปแบบเพราะอะไร เพราะเคยทำมาแบบพุทโธ หายใจเข้ารู้สึกตัว หายใจออกรู้สึกตัว ก็เคยสัมผัสมา
ลมหายใจนี้เป็นธรรมชาติ เคลื่อนไหวเข้า ออกเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องเจตนา มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น บางทีเราไม่รู้ มันก็หายใจอยู่นั้นแหละ มันอาจจะหลงง่าย สำหรับตัวหลวงพ่อนะ คนอื่นอาจจะรู้ง่ายก็ได้ แต่เราอย่าไปขัดกันแย้งกันในเรื่องนี้
ขอให้ทุกรูปทุกนามใส่ใจเจตนา สร้างสติโดยการเคลื่อนไหว ลองดู ทดลองดู สัมผัสดู ถ้าเรามีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวนานๆ การมีสติมันก็ละความชั่ว มีสติมันก็ทำความดี การมีสติจิตมันก็ค่อยสะอาดขึ้น ค่อยบริสุทธิ์ ค่อยสงบ เหมือนกับน้ำที่ไม่มีลมพัด น้ำมันก็น่ิงได้ ใจที่ไม่ค่อยมีอารมณ์มาพัดเพราะมีสติ สติมันเป็นผู้ปรับ ปรับสมดุล เป็นธรรมชาติให้แก่จิตใจ

การเจริญสตินี้ก็ขออย่าให้มีแนวร่วมอย่างอื่น ให้มีสติบริสุทธิ์ มีสติซื่อๆตรงๆ ให้มีความรู้สึกตัวซื่อๆตรงๆ รู้สึกที่กายซื่อๆตรงๆให้มีสติเต็มที่อย่าให้มีอะไรเป็นเบื้องหน้า เบื้องหลัง ให้สติมันท่องเที่ยวอยู่กับกาย กับรูป ให้สติมันเห็นจิตเป็นใจ เวลาที่มันคิด อย่าให้มีอะไรมาขวางกั้น ให้โอกาสแก่สติเต็มที่เกี่ยวกับกายนี้ รู้ซื่อๆตรงๆรู้บริสุทธิ์ วิธีใดที่เราจะมีความรู้ตัวอยู่ภายในกาย เราก็หาโอกาสนั้นให้มันซื่อๆตรงๆรู้ซื่อๆ
แต่บางคนไม่ใช่ บางคนและอาตมา หรือหลวงพ่อนี่ก็เหมือนกัน สมัยก่อนมันไม่รู้ซื่อๆตรงๆมันเผื่อ มันก็ไปรู้อะไรอยู่ มันก็คิดไป ทำไมจึงทำอย่างนี้ มันเอาผิดเอาถูก เอาเหตุเอาผลไปร่วมด้วย ทำอย่างนี้มันดี มันชอบ มันไม่ชอบ ทำไมจึงทำอย่างนี้ ถ้ารู้แล้วมันจะเป็นอย่างไร เช่น เรามีสติอยู่ "เอ เรามีสติหรือเปล่า" "อันนี้เป็นสติหรือเปล่า" "อันรู้อยู่นี้เป็นสติหรือความคิดกันแน่" บางทีมันก็คิดไป ไม่รู้ว่าตัวสติมันคืออะไร มันก็เลยถูกแบ่งถูกแยกตลอดเวลา เอาเหตุเอาผลไปร่วม เอาผิดเอาถูกไปร่วมกับการกระทำ มันก็เลยไม่เต็มที่

บางคนไปสู้กับความคิดจนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า จนคร่ำเครียด ไม่จำเป็นต้องไปถึงขนาดนั้นหรอก ส่ิงที่เราจะแก้ไขมันง่ายอยู่ เวลาใดที่มันคิด เรากลับมากำหนดอิริยาบถพลิกมือเคลื่อนไหวไปมานั้นแหละ ก็เท่านี้ มันไม่ยิ่งใหญ่อะไร แต่ถ้าเราไม่รู้ มันก็ยิ่งใหญ่มาก มันดึงมันลากไป จนกลายเป็นอารมณ์จนถอนตัวไม่ออก มันตกหล่ม ไม่แก้ ไม่ช่วยตัวเอง ปล่อยให้ตกอยู่
การถอนออกจากหล่มก็คือกลับมาที่การกำหนดกายเคลื่อนไหว อะไรก็ตาม ถ้าเรากลับมานี่มันเปลี่ยนได้ทั้งหมดจะเป็นความง่วง ความคิด ความลังเลสงสัย ความปวด ความเมื่อย เวทนาอะไรต่างๆก็ตาม ให้เป็นความรู้สึกตัว สิ่งที่รู้ก็มีอยู่จริงๆ เรียกว่า "แก้อารมณ์" เปลี่ยนอารมณ์ให้กับตัวเองสอนตัวเอง ให้ตัวเองมีประสบการณ์ เวลาใดมันหลงไป กลับมากำหนดกายเคลื่อนไหว หาประสบการณ์เรื่อยๆไป มันก็มีโอกาสชำนิชำนาญในการเห็นความคิด เห็นความง่วง เห็นอาการต่างๆที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ เอาสติเข้าไปกำหนดรู้ทุกครั้งทุกคราวไป
สติที่เข้าไปรู้ทุกครั้งทุกคราวมันก็มีโอกาสแก้กล้า เป็นประสบการณ์แข็งแกร่งขึ้น ง่ายขึ้นๆ

การรู้แบบดูนี่ พยายามดูให้เป็นอิสระ เคลื่อนไหวไปมานี่ ดูจิตใจนี่ไม่มีอะไร ยิ้มแย้มแจ่มใส เห็นความคิด คล้ายๆกับว่าหัวเราะความคิดตัวเองได้ แต่บางคนเครียดเวลามันคิด เวลามันคิดก็เครียดขึ้นมา ถือว่าตัวเองผิด แต่จริงๆแล้วถ้ามันคิดขึ้นมาก็ โอ้ มันเป็นเรื่องที่สดชื่นมาก เหมือนกับเราเห็นสิ่งใดที่มันผิด เหมือนกับศิลปิน เห็นมันผิด มันเป็นเรื่องที่สดชื่นเป็นเรื่องกระตือรือร้น เป็นผลงานที่สำเร็จ ถ้าไม่เห็นจุดผิดไม่มีโอกาสสำเร็จ หรือเป็นหมอก็ดี ถ้าหมอตรวจโรค ดูโรคออกเป็นสมมติฐานของโรค ได้ชื่อว่าหมอคนนั้นเก่ง
อันการที่เห็นว่าตัวเราผิดนี้เป็นเรื่องที่น่าสดชื่นใจ กระตือรือร้นอยากให้มันผิดด้วยซ้ำไป แต่บางคนป้องกันเกินไป เพื่อนหลวงพ่อสมัยก่อนปฎิบัติด้วยกัน นั่งอยู่ เอารองเท้ามาตีหัวตัวเองตุ๊บๆตุ๊บๆ
หลวงพ่อก็ไปถาม "ทำไมล่ะ"
เขาตอบว่า "ไม่รู้มันคิดอะไร ไอ้ห่านี่ มันคิดอะไร เราต้องตีหัวตัวเอง ไอ้ห่านี่ มันคิดอะไร"
โอ้ มันไม่ใช่หรอกหลวงพ่อ มันไม่ใช่อย่างนั้น สติมันไม่ใช่อย่างนั้น หลวงพ่อทำอย่างนั้นมันดับเบิ้ลคิด ไม่รู้ว่ากี่เรื่องแล้ว หลายเรื่องแล้ว กว่าที่จะไปเอารองเท้ามาตีหัวตัวเอง มันซ้อนคิดเข้าไปเยอะแยะ ไม่ใช่ลักษณะของสติ
ลักษณะของสติพอมันคิดแล้วมันจะยิ้มนะ ยิ้มแย้มแจ่มใส หัวเราะสดชื่นนะ ไม่ใช่มันผิดแล้วเอารองเท้ามาตีหัว นั่นไม่ใช่เรื่องของสติ ไม่ใช่เรื่องของความรู้สึกตัว สติแท้ๆ มันจะสดชื่อนเวลาเห็นความคิดมันจะยิ้ม มันก็มีความมั่นใจ มันเป็นเรื่องที่สดชื่น นี่คุณค่าของสติ รู้อย่างนี้ ดูอย่างนี้