วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ปรมาจารย์ แห่งการเจริญสติ



วิธีปฎิบัติคือ ให้เจริญสติให้มีคามรู้สึกตัวในทุกอิริยาบถไม่ว่าจะเป็นการยืน การเดิน การนั่ง การนอน และในอิริยาบถย่อย คือคู้ เหยียด เคลื่อนไหวและต้องเห็นจิตใจเมื่อมันนึกมันคิดด้วย นี่เป็นหัวใจของการปฎิบัติ ถ้ามีความรู้สึกตัว โมหะ ก็จะหายไป เราควรเคลื่อนไหวอยู่เสมอเพื่อให้มีความรู้สึกตัว เช่นพลิกมือ ยกมือขึ้นและลง เดินจงกรม กะพริบตา อ้าปาก กลืนน้ำลายและอื่นๆ เราต้องรู้สึกตัวในการเคลื่อนไหวทั้งหมด ความรู้สึกตัวนี้คือสติ ส่วนความไม่รู้สึกตัวคือโมหะ

เมื่อมีสติ จะมีสมาธิ มีปัญญา จะเห็น รู้ เข้าใจเรื่องชีวิตจิตใจของตนเอง การรู้ธรรมะไม่ใช่การเห็นเทวดา นรก หรือสวรรค์ แต่เป็นการรู้ เห็นตัวเองขณะที่พลิกมือ ยกมือขึ้นลง เดินจงกรม กะพริบตา อ้าปาก กลืนน้ำลายและอื่นๆ เมื่อมันคิด สติที่ว่องไวจะเห็นความคิด และความคิดจะหยุดลงทันที

เมื่อมีความรู้สึกตัว มีสติ โทสะ โมหะ โลภะ จะไม่มี ถ้ามีโมหะ โทสะ และ/หรือโลภะก็จะตามมา ความจริงโทสะ โมหะ โลภะไม่ได้มี ถ้าเราไม่หลงจิตหลงใจ หลงอารมณ์ โทสะ โลภะก็จะไม่มี

นอกจากมีความรู้สึกตัวในการเคลื่อนไหวของกายแล้ว ยังต้องรู้จักใจเห็นใจที่มันนึกมันคิดด้วย จึงจะเรียกว่ารู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกาย-ใจ ถ้าเรามีสติอยู่เสมอ เราจะสามารถเห็นความคิดได้ แต่ถ้าไม่มีสติเราจะไม่เห็นมัน จะเข้าไปในความคิด และจะเป็นส่วนหนึ่งของความคิดนั้น

เราต้องเจริญสติให้มากๆ ให้มันต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ให้มีสติที่ว่องไว จึงจะรู้เท่าทันความคิด ไม่ใช่ความคิดหรืออารมณ์เกิดขึ้นเสียก่อน แล้วสติจึงจะมีอย่างนั้นไม่ทันการณ์ ต้องฝึกจนกระทั้งสติมันไวเท่าความคิดหรือนำหน้าความคิด การเจริญสติจะไม่มีการห้ามหรือข่มไม่ให้มันคิด ถ้ามันจะคิดก็ปล่อยให้มันคิด ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน แต่เราต้องมีสติที่ว่องไว เมื่อคิดปุ๊บ เห็นปั๊บและให้เห็นมันทุกครั้งที่มันคิด ความคิดปรุงแต่งนี้จะน้อยลงและสั้นลง โลภะ โทสะ โมหะ แสดงตัวออกมาในรูปของความคิดทั้งสิ้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น